วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ไข้เลือดออก

      โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศแถบอาเซียน ซึ่งพบการระบาดในหลายประเทศ  สำหรับในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 63,931 ราย เสียชีวิต 64 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ15-24 ปี รองลงมา 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนในปี 2560 นี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 11,062 ราย เสียชีวิต 19 ราย


      โรคไข้เลือดออก มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งในแถบประเทศอาเซียนนี้สามารถพบได้ 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ นอกเหนือจาก 4 สายพันธุ์ที่เคยพบมาแล้ว  หากป่วยเป็นครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรง แต่ถ้าป่วยเป็นครั้งที่สองอาการจะรุนแรงขึ้น ในเชื้อที่ต่างจากชนิดที่เป็นครั้งแรก


      อาการของโรค ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ผิวหนังเป็นจุดเลือด อาเจียน ปวดท้อง และควรไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูง เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยโรค และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงไข้ลดหากเกิดอาการช็อกจากไข้เลือดออก ต้องรีบกลับไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากช้าอาจทำให้เสียชีวิตได้


      การป้องกัน เราสามารถใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

           1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง

           2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

           3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่

      ส่วนป้องกัน 3 โรค ก็คือ โรคไข้เลือดออก  โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น