"อุตสาหกรรม 4.0 จริงแล้วก็คือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือบางคนใช้คำว่าอุตสาหกรรมที่ 4 ซึ่งการปฏิวัติ ในแต่ละครั้งเป็นอย่างไรบ้างล่ะ?"
ยุคต่างๆของระบบอุตสาหรกรรม
ช่วงแรกส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อใช้กันเอง ขาย หรือรับมาทำที่บ้าน แล้วก็จะมีพ่อค้ามารับไปจำหน่ายต่อ ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ก็คนในครอบครัว หรือจ้างคนที่รู้จักมาช่วยทำ ซึ่งยุคนี้ แรงงานหลักคือ แรงงานคน แรงงานสัตว์ รวมถึงการใช้พลังงานธรรมชาติ และมีการใช้เครื่องมือแบบง่ายๆ ต่อมาต้องการการผลิตที่สูงขึ้น ก็มีการจ้างมากขึ้น จนกลายเป็นระบบโรงงานขึ้น
ย้อนมาดูยุคแรกกัน ยุคนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ด้วยชายที่ชื่อว่า “เจมส์ วัตต์” แล้วเค้าทำอะไร? เค้ามีชื่อมาก จากการสร้างเครื่องจักรไอน้ำชื่อนิโคแมน ให้มีการใช้งานที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ส่งผลให้การผลิตผ้าเพิ่มจากเดิมถึง 3 เท่า ลดแรงงานสัตว์ สร้างรถไฟไอน้ำในการขนส่งและช่วยลดระยะการคมนาคม รวมถึงนวัตกรรมอื่นๆอีกมาก แล้วยังมีการนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้อย่างมากมาย เรียกได้ว่า “ยุคเครื่องจักรไอน้ำ” รวมถึงอาจจะพูดได้ว่าเค้าคือจุดเริ่มต้นของโรงงานผลิตที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำเข้ามาช่วยในการผลิตก่อกำเนิดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ขึ้น
ยุคการปฏิวัติครั้งที่ 2 เป็นยุคที่เราคุ้นเคยกับชื่อผู้นี้มากเลย ก็คือ “เฮนรี่ ฟอร์ด” ซึ่งเค้าคือผู้ที่สร้างรถยนต์โมเดลทีให้มีชื่อเสียงแล้วยังเพิ่มการผลิตรถยนต์ได้ โดยเริ่มนำระบบมาใช้เมื่อ ค.ศ. 1913 จนกระทั่งหยุดสายการผลิตที่ปี ค.ศ. 1927 และผลิตรถยนต์ได้ 15 ล้านคัน ด้วยการนำระบบการผลิตแบบสายพานเข้ามาใช้ในการผลิตรถยนต์ และได้เปลี่ยนการใช้พลังงานไอน้ำมาใช้พลังงานไฟฟ้า จึงสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน จนโรงงานอื่นนำเทคนิคนี้ไปใช้อย่างแพร่หลาย ถึงตรงนี้เรียกได้ว่า ยุคของการผลิตสินค้าเหมือนๆ กันเป็นจำนวนมากหรือ "Mass Production"
ยุคการปฏิวัติครั้งที่ 3 (คนไทยรู้จักกันน้อยครับ) เป็นยุคที่นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติขึ้น และนำมาเสริมการทำงานแบบการใช้กลไกเพียงอย่างเดียว ด้วยการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตแทนแรงงานมนุษย์มากขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดยหลายๆโรงงานต้องมีระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามามีส่วนร่วมการผลิตด้วย บางที่ใช้ระบบอัตโนมัติขั้นสูงเพื่อผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากๆ เพื่อให้สินค้ามีราคาต่ำพอที่ผู้บริโภคจะสามารถจ่ายได้
จากยุคที่ 3 ทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่เหมือนๆกันเป็นจำนวนมากได้ในพริบตาแล้ว ด้วยระบบคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ที่นำมาช่วยในการผลิตแล้ว ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 นี้ จึงได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง ส่งผลให้ผลิตสินค้าได้หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าได้ในจำนวนมากและเสร็จในพริบตา โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรแบบ “Smart Factory”
แนวคิด อุตสาหกรรม 4.0 นี้ จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิต เข้ากับการเชื่อมต่อทางเครื่อข่ายในรูปแบบ “The Internet of Things (IoT)” คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล
อุตสาหกรรม 4.0 จริงแล้วไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการผสมผสานองค์ประกอบด้านเทคโนโลยี่ 9 ด้านเข้าด้วยกัน ดังนี้
1. หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Robots) มาเป็นผู้ช่วยในการผลิต
2. การสร้างแบบจำลอง (Simulation) เช่น การพิมพ์แบบ 3D เสมือนจริง
3. การบูรณาการระบบต่างๆเข้าด้วยกัน (System Integration)
4. การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของสิ่งของ (Internet Of Things) ที่ทำให้เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะ
5. การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cyber Security)
6. การประมวลและเก็บข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ (Cloud Computing)
7. การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ Additive Manufacturing เช่น การขึ้นรูปชิ้นงานในเครื่องพิมพ์ 3D
8. เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนโดยผ่านอุปกรณ์ต่างๆ
9. ข้อมูลขนาดใหญ่ ( Big data) คือชุมนุมของชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อน มีทั้งการบันทึกและจัดเก็บ การค้นหา การแบ่งปัน และการวิเคราะห์ข้อมูล
จากบทความนี้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ไม่มากก็น้อย เพื่อเดินต่อได้ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น อะไรที่มีในหนังไซไฟหลายเรื่องจริงแล้วไม่ได้เกินจากปัจจุบันที่จะเข้ามาในไม่ช้านี้แน่ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น