วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ต่อด้วยเรื่องการตรวจสอบถังดับเพลิงให้พร้อมใช้

      เพลิงไหม้ เราไม่อาจจะบอกได้ว่าจะเกิดตอนไหน เมื่อไหร่ เมื่อเราคิดป้องกันและลดการสูญเสียด้วยการมีถังดับเพลิงไว้ภายในบ้านหรือภายในสำนักงาน (สำหรับโรงงานมีกฏหมายรองรับครับว่าต้องมี และมีอย่างไรด้วย) ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันพร้อมใช้ แล้วเราต้องทำอย่างไรบ้างล่ะ?

      วิธีการตรวจสอบก็ไม่ยากครับ สำหรับถังดับเพลิงที่มีเกจหรือมาตรวัด (Pressure Gauge) ให้ดูที่มาตรวัดเลยครับ ซึ่งจะต้องให้เข็มอยู่ในช่วงที่เป็นสีเขียว นั่นคือระดับแรงดันในถังสามารถใช้ฉีดสารเคมีออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเข็มเอียงมาทางซ้าย หมายถึง ระดับแรงดันต่ำเกินไป ต้องนำไปเติมใหม่ครับ ส่วนเอียงไปทางขวาล่ะ นั่นก็มากเกินไปครับ


      ถัดไปก็สายฉีดครับ ต้องหมั่นตรวจสอบครับว่ามีฝุ่นหรืออะไรเข้าไปอุดตันหรือไม่ สภาพของสายชำรุดหรือมีรอยแตกหรือไม่

      สภาพของถังก็เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญครับ หากว่าถังบุบหรือเป็นสนิมก็เสียงต่อความปลอดภัยในขณะใช้ถังดับเพลิงก็ได้ หรือถังนั้นผ่านการถูกไฟไหม้อย่างรุนแรงมาก่อน หรืออาจจะมีการทำตกหล่นกระแทก ควรนำถังนั้นส่งตรวจสอบโดยสถาบันหรือสถานรับรองก่อนนำมาใช้งาน (สำหรับถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เมื่อถูกใช้งานแล้ว แรงดันจะตกลง ต้องนำไปบรรจุใหม่ทุกครั้ง)

      เพิ่มเติมกันนิดนุงนะสำหรับถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้งนี่สำคัญครับ เพราะนอกจากจะต้องหมั่นตรวจสอบเกจวันแล้ว มันยังมีอายุของสารเคมีที่บรรจุด้วยครับ ไม่เกิน 5 ปีนะครับ หากเกินต้องนำไปบรรจุใหม่ อีกชนิดก็คือถังดับเพลิงชนิด Halotron-1 และ CO2 จะมีอายุที่ 10 ปีครับ

      จากบทความที่ผ่านมาเกี่ยวกับถังดับเพลิงจนมาถึงตอนนี้ คิดว่าเราน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้ การใช้งาน และการตรวจสอบ มาพอประมาณบ้างแล้ว ยังไงเดินผ่านถังดับเพลิงที่ทำงานก็ลองสังเกตบ้างครับ ลองดูว่ามันตรงตามมาตรฐานที่ว่านี้หรือไม่ อีกอย่าง ใบบันทึกที่ติดอยู่กับถัง มีการลงบันทึกอย่างต่อเนื่องหรือไม่ แล้วครั้งล่าสุดนานเกินไปหรือไม่ อย่างไร หากไม่แน่ใจ ควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น