วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

กฏหมายโดรนเมืองไทย

      อยากได้โดรนมาเล่นนานละ และยังคุยกับพี่เอ เมื่อวันก่อนอยู่เลยว่า พี่เอก็อยากได้แบบทีมีแว่น VR ด้วย และก็ชอบเข้าเว็บดูราคา ดูว่ารุ่นไหนน่าเล่นในราคาที่รับได้ แต่ก็มาสะดุดกับบทความเกี่ยวกับ กฏหมายโดรนเมืองไทย อ้าว!! นี่เมืองไทยมีกฏหมายแล้วหรือ?

      แล้วข้อกฏหมายระบุอะไรบ้างล่ะ ถ้าจะซื้อมาเล่นก็ต้องอ่านสิครับ เกิดสุ่มสี่สุ่มห้าโดนจับ แย่เลย

      สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย CAAT ได้เผยแพร่ข้อมูลและภาพประกอบเกี่ยวกับกฏหมายและการลงทะเบียนโดรน Unmanned Aerial Vehicle (UAV) โดยมีรายละเอียดกฏหมายพอสังเขปดังนี้

      จากประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานไร้คนขับ ประเภทอากาศยานที่ควบคุมภายนอก ลงวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งแบ่งประเภทของโดรนออกเป็น 2 แบบ ตามวัตถุประสงค์ดังนี้

      ประเภทที่ 1 ใช้เพื่อการเล่นเป็นงานอดิเรกและความบันเทิงหรือการกีฬาเท่านั้น
      ประเภทที่ 2 ใช้เพื่อวัตถุประสงค์รายงานข่าว รายการโทรทัศน์หรือภาพยนต์ วิจัยและพัฒนาอากาศยาน หรือเพื่อการอื่นๆนอกจากประเภทที่ 1

      อากาศยานในแต่ละประเภทก็มีการกำหนดน้ำหนักด้วย ซึ่งประเภทที่ 2 นั้น มีการกำหนดน้ำหนักไว้ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ส่วนประเภทที่ 1 มีข้อกำหนดย่อยหลายข้อ ดังนี้

           ประเภท 1ก ให้มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ผู้ปล่อยอากาศยานต้องอายุมากกว่า 18 ปี หรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมควบคุมดูแล และต้องกำหนดตามเงื่อนไขการปล่อยอากาศยานดังนี้

              1. ก่อนทำการบิน
                 - ตรวจสอบว่าอากาศยานอยู่ในสภาพที่สามารถทำการบินได้หรือไม่ และทำการบินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมทั้งตัวอากาศยานและระบบควบคุมด้วย
                 - ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทำการปล่อยอากาศยานและที่จะทำการบิน
                 - ทำการศึกษาพื้นที่และชั้นของห้วงอากาศที่จะทำการบินก่อน
                 - มีแผนฉุกเฉินหรือแผนสำหรับกรณีการเกิดอุบัติเหตุ การพยาบาล และการแก้ไขปัญหาหากผู้บังคับไม่สามารถบังคับควบคุมอากาศยานได้

             2. ระหว่างทำการบิน
                 - ห้ามทำการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และรบกวนความสุขของผู้อื่น
                 - ห้ามทำการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจำกัด และเขตอันตรายตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication - Thailand) รวมทั้งส่วนงานราชการต่างๆ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานดังกล่าวหรือเจ้าของพื้นที่
                 - พื้นที่สำหรับขึ้นหรือลงอากาศยานต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
                 - ผู้บังคับอากาศยานต้องมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาทำการบินและห้ามบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
                 - ต้องทำการบินในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
                 - ห้ามทำการบินเข้าไปในเมฆหรือเข้าใกล้เมฆ
                 - ห้ามทำการบินภายในระยะทาง 9 กิโลเมตร จากสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของกาอาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเข้าของหรือผํุดำเนินการสนามบินอนุญาต
                 - ห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร เหนือพื้นดิน
                 - ห้ามทำการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
                 - ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานที่มีนักบิน
                 - ห้ามทำการบินโดยละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
                 - ห้ามทำการบินโดยก่อให้เกิดความเดือนร้อน ความรำคราญ แก่ผู้อื่น
                 - ห้ามทำการบินโดยส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กำหนดในกฏกระทรวงหรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน
                 - ห้ามทำการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อนสร้างหรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร

      ส่วนประเภทที่ 2 ผมคงจะขอผ่านนะครับ เพราะคิดว่าเราน่าจะยังไม่มีบทบาทตรงนั้นครับ แต่ถ้าเราอยากจะรู้เพิ่มเติม ก็ตามเอกสารอ้างอิงตามนี้ครับ https://www.caat.or.th/th/archives/20367

      และการลงทะเบียนโดรน ก็บังคับกับโดรนที่ติดกล้องต้องลงทะเบียนทุกกรณี และโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม ต้องลงทะเบียนทุกกรณีครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น