วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

เพิ่มกระบวนการหรือปรับปรุงโปรแกรมดีกว่ากัน

       มีน้องมาถามเรื่องอยากปรับปรุงกระบวนการควบคุมบางอย่าง ด้วยการเพิ่มการทำงาน
เข้าไป เป้าหมายเพื่อลด WIP Stock ของไลน์

       ผมเลยถามกลับไปว่า สิ่งที่คิดว่าจะทำด้วยการเพิ่มการควบคุมนั้น

              1. ได้ทำการวิเคราะห์สาเหตุมาอย่างไรบ้าง? 
              2. แล้วพฤติกรรมการทำงานกับระบบเดิมทำอย่างไร? 
              3. สาเหตุที่มีสต็อคเยอะเกิดจากกระบวนการไหน? 

       ปรากฏว่าข้อมูลที่น้องมี มันยังไม่สามารถตอบได้เลยว่า สาเหตุหลักคืออะไร เลยนึกได้ว่าน้องคงลืมนึกถึงหลักการ PDCA จึงแนะกลับไปถึงหลักการวิเคราะห์ เพราะจริงแล้วจุดงานนั้นมีโปรแกรมหรือระบบเดิมที่ใช้อยู่ เพียงแค่ข้อมูลที่นำมาเลือกวิธีการแก้ไขมันยังไม่เพียงพอว่าจะทำอย่างไร ซึ่งบางทีการเพิ่มกระบวนการที่ควบคุมหรือตัดสินใจด้วยคนเยอะเกิน ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีหรือบางครั้งการที่พัฒนาโปรแกรมเพื่อควบคุมจนลืมนึกถึงกระบวนการและความจำเป็นหน้างานก็ยากที่จะสำเร็จ คนเป็นตัวแปรที่ควบคุมยากที่สุดนะ(ผมว่า) ซึ่งการที่เราจะสามารถทำการแก้ไขปรับปรุงปัญหานั้นให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องปรับปรุงทั้ง 3 ส่วน ให้สอดคล้องรับกันได้ตรงจุด

       จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา หาปัญหาที่ส่งผลต่อเป้าหมายที่เรากำลังโฟกัส แล้วหาวิธีการแก้ไข จัดทำแผนเพื่อดำเนินการ จากนั้นลงมือทำมันเลยครับ ในระหว่างนั้น หรือจบการปรับปรุงเราต้องตรวจสอบด้วยว่าเป็นไปตามที่เราวางแผนหรือไม่ แล้วกำหนด KPI เพื่อดูว่าปัญหาที่เราจะแก้ มันลดลงจริงหรือ?

       ถ้ามันไม่สามารถบรรลุผลเพราะยังมีปัญหาใหม่หรือปัญหาอื่นมาส่งผลกระทบอีก ให้วนกลับไปรวบรวมข้อมูล จนวนกลับมาเช็คผล เมื่อได้ตามเป้าหมาย ก็ทำการขยายผลครับ

       จากคำถามและการพูดคุยกัน ผมแนะให้น้องลองไปทำตามดูก่อน เพราะผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะให้คนมาคอยเช็คในหลายๆจุด เพราะถ้าคนถูกเปลี่ยนหรือหลงลืม ก็เกิดปัญหาอีกอยู่ดี แต่ถ้าปรับทั้ง 3 ส่วนไปพร้อมๆกันน่าจะดีกว่าไม่น่าจะต้องใช้คนมาคอยเช็คถึง 10 กว่าคน โดยใช้ความเก๋าเกมส์เพียงเท่านั้น ควรทำมันให้เป็นระบบ เมื่อมีการถ่ายงาน คนที่มาแทนที่ควรทำงานนั้นได้ในเวลาอันสั้นและเกิดผลสำเร็จเหมือนๆเดิม นั่นแหล่ะถึงจะดีที่สุด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น